‘ไอบีเอ็ม’ เปิดวิชั่นใหญ่ ปลุก ‘เทคโนโลยี’ หนุนความ ‘ยั่งยืน’

เทคโนโลยีใหม่ๆ

วันนี้ความยั่งยืนก้าวขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในบอร์ดรูม หรือแผนกลยุทธ์ขององค์กร ขณะนี้ผู้บริโภคในหลายประเทศ

ขณะที่ COP27 หรือการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ UN กำลังดำเนินอยู่ ที่อียิปต์ และที่ผ่านมาสมัชชาระหว่างประเทศของ UN ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ IPCC ระบุถึงความจำเป็นที่ต้องลดปริมาณปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ 45% ภายในปี 2573 (เทียบกับระดับก๊าซคาร์บอนในปี 2553) หากต้องการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิภายในศตวรรษนี้ไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส

เทคโนโลยีใหม่ๆ

รายงานล่าสุดโดย UN Climate Change บ่งชี้ว่า ความพยายามที่ผ่านมา ยังไม่เพียงพอหากต้องการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส โดยนับตั้งแต่ประชุม COP26 ที่กลาสโกว์ มีเพียง 29 จาก 194 ประเทศที่ได้ประกาศยุทธศาสตร์ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง และบางโครงการที่ได้ประกาศออกมาแล้ว ก็ไม่ได้การันตีว่าจะส่งผลลัพธ์ดังที่คาดไว้

“สวัสดิ์ อัศดารณ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวในประเด็นนี้กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า วันนี้หลายประเทศเริ่มมี หรือกำลังพัฒนาข้อกำหนดการเปิดเผยข้อมูลขององค์กร เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่นในปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรปสั่งแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว อังกฤษวางแผนลงทุน 2.4 พันล้านดอลลาร์ เพื่อส่งเสริมการปั่นจักรยานและเดิน เกาหลีใต้ มีแผนจะเพิ่มเงินสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นสองเท่าเพื่อส่งเสริมการใช้ระบบโซลาร์เซลล์ในบ้านและอาคารพาณิชย์ จีนมีแผนจะสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 78,000 แห่ง

ขณะที่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) วางเป้าหมายให้ไทยมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 567 แห่ง และเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบ Fast Charge 13,251 เครื่องทั่วประเทศ ภายในปี 2573

ในมุมธุรกิจ แม้วันนี้ความยั่งยืนดูเหมือนจะก้าวขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในบอร์ดรูม หรือแผนกลยุทธ์ขององค์กร ซึ่งโดยหลักก็เพราะขณะนี้ผู้บริโภคในหลายประเทศ มองความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นของคู่กัน และมองหาแบรนด์ที่แสดงจุดยืนรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว

หากผลศึกษาโดยสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBV) และ Oxford Economics ใน 32 ประเทศ บ่งชี้ว่า “มีการพูดคุยกันมากมาย แต่ไม่ค่อยได้ลงมือทำ แม้องค์กร 86% ได้วางกลยุทธ์ความยั่งยืนไว้แล้ว แต่มีเพียง 35% เท่านั้นที่ได้ดำเนินการตามกลยุทธ์ และมีเพียง 27% ที่มองว่าความยั่งยืนเป็นองค์ประกอบหลักเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจของตน”