“ศุภัช ศุภชลาศัย” จากนักเศรษฐศาสตร์สู่กรรมการ “กสทช.”

เศรษฐศาสตร์จุลภาค

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ชุดที่ต้องเข้ามารับพิจารณาประเด็นร้อน

กรณีการควบรวมกิจการระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ซึ่งเป็นที่จับตามองจากผู้คนในวงกว้าง

การเข้ามารับตำแหน่งของบอร์ด กสทช. ชุดที่มี นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นประธานตั้งแต่เดือน เม.ย.2565 จึงเป็นไปอย่างเงียบงัน หลีกเร้น ซ่อนหน้า ไม่เฉพาะต่อสื่อมวลชน แต่รวมถึงต่อภาคเอกชนบางส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

มีเพียงการแถลงข่าวร่วมกันเมื่อเดือน ส.ค.2565 ในโอกาสดำรงตำแหน่งครบ 3 เดือน ครั้งนั้นประธานบอร์ดยืนยันสั้นๆกับสื่อมวลชนว่า การพิจารณากรณีทรูและดีแทค “ไม่มีธง” แน่นอน

เศรษฐศาสตร์จุลภาค

เมื่อบอร์ดมีมติ 3 ต่อ 2 รับทราบการควบรวมกิจการและกำหนดมาตรการและเงื่อนไขเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม สร้างกระแสลุกฮือจากกลุ่มผู้คัดค้าน ซึ่งประกาศว่าจะนำเรื่องฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อหยุดยั้งการควบรวมในครั้งนี้ให้ได้

กระนั้น…ก็ยังไม่มีบอร์ดคนไหนเอ่ยปากพูดถึงเรื่องดังกล่าว นอกจากการให้เอกสารข่าวเผยแพร่วาระประชุมและการสื่อสารทางเดียวผ่านหน้าเฟซบุ๊กของบอร์ด กสทช.บางคน

…จึงนับเป็นฤกษ์งามยามดียิ่ง เมื่อในที่สุด “ทีมเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. เสียงข้างน้อย ผู้ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค

นอกจาก “แก่ขึ้นเยอะและเหนื่อยกว่าที่คิด” รศ.ดร.ศุภัชยังบอกเล่าเรื่องราวการทำงาน ความต้องการทำให้ค่าบริการมือถือและ อินเตอร์เน็ตถูกลง การเคารพในความคิดต่าง การปล่อยวางและ เป้าหมายในเวลาอีก 5 ปีครึ่งที่เหลืออยู่ของเขา…

ต้องยอมรับว่าการพิจารณากรณีควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค กินเวลาและพลังงานไปเยอะมาก แต่เมื่อการพิจารณาของบอร์ดเสร็จสิ้นลงแล้ว ก็จะเดินหน้าทำงานอื่นๆได้ตามแผนที่วางเอาไว้ รวมถึงการกำกับดูแลราคาค่าบริการมือถือและอินเตอร์เน็ต ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการควบรวมด้วย

“กรณีทรูและดีแทค ต้องถือเป็นเผือกร้อนสำหรับ กสทช.ชุดนี้ เราถูกกรอบเวลา สังคมเร่งรัดให้พิจารณาทันทีที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือน เม.ย.2565 หน้าที่ของผมในฐานะกรรมการสายเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการ ต้องผลักดันให้มีการศึกษาข้อมูลอย่างครบถ้วน รอบด้าน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาของบอร์ด คิดว่าทำในส่วนของตัวเองอย่างดีและเต็มที่แล้ว”

ความตั้งใจหลักจริงๆ ตอนตัดสินใจสมัครเข้ามารับการคัดเลือก เป้าหมายคืออยากยกระดับสำนักงาน กสทช.ให้เป็นองค์กรกำกับ ดูแลชั้นนำ ทั้งในและต่างประเทศ มีความเป็นสากลและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ

“ผมเป็นนักวิชาการ ทำงานร่วมกับ กสทช.มากว่า 14 ปีแล้ว ในฐานะนักวิจัย ทำงานให้ กสทช.หลายเรื่อง ที่ตลกคือผมเป็นคณะทำงานที่เข้ามาช่วย กสทช.ร่างประกาศเรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ซึ่งถูกอ้างอิงเรื่อยมาตั้งแต่มีกรณีทรูควบรวมดีแทค”

“ก่อนหน้านี้ ผมอยู่ในฐานะนักวิจัย ช่วยศึกษา ร่างประกาศ ทำข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบาย แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ตอนนี้บทบาทเปลี่ยน ผมมีอำนาจในการพิจารณาเรื่องที่ส่งผลดี และเสียต่อผู้เกี่ยวข้อง ทำให้รู้ว่าข้อมูลหลักฐานที่ดีนั้น จะนำไปสู่การกำกับดูแลที่ดีและตอบคำถามจากสังคมได้”

พอได้เข้ามาทำงาน ผมจึงเสนอบอร์ดเพิ่มสายงานวิชาการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงาน กสทช. ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจาก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานบอร์ด ทำให้กระบวนการเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว ล่าสุดเพิ่งฟอร์มทีมเสร็จเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2565 ที่ผ่านมา สายงานวิชาการ ประกอบด้วย 5 สำนัก ได้แก่ 1.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทางวิชาการ กสทช. ซึ่งอยากทำให้เป็นเหมือนสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่ง ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการ ธปท. ได้เข้ามาช่วยวางโครงสร้างด้วย 2.สำนักงานวิเคราะห์นโยบาย 3.สำนักวิเคราะห์นโยบายเชิงปริมาณ 4.สำนักวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจดิจิทัล 5.สำนักวิชาการต่างประเทศ

การเพิ่มสายงานที่มีตำแหน่งและเครื่องการันตีความก้าวหน้าในอาชีพการงานที่ชัดเจน จะช่วยสร้างฐานงานวิชาการให้กับสำนัก งาน กสทช. แทนที่จะพึ่งพางานวิจัยจากบุคคลภายนอกเป็นหลัก ช่วยยกระดับ กสทช.สู่การเป็นองค์กรที่กำกับดูแลโดยใช้ข้อมูลหลักฐาน (Evidence Based) มีขีดความสามารถทางวิชาการชั้นสูง มีคนเก่งๆอยากร่วมงานด้วย